ศักราชใหม่ของภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นประยุกต์ | The New App Jp Ling

หลังจากจบคอร์สไปก็ยังพยายามชวนเพื่อนหลาย ๆ คน ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ลงวิชานี้ จนมีเพื่อนปี 3 ที่เพิ่งกลับมาจากแลกเปลี่ยนไปลง ก็เลยมีโอกาสได้ติดตามเรื่อย ๆ ว่าในห้องเรียนทำอะไรกันบ้าง เห็นว่าปีนี้คนเรียนเยอะมาก ๆ และมีคนทำโปรเจ็คที่น่าสนใจอยู่หลายอันเลย วันนี้ก็เลยอยากมานำเสนอสิ่งที่เพื่อน ๆ หรือพี่ ๆ ได้ทำในวิชานี้ค่ะ

รู้สึกว่า ยิ่งการทำโปรเจ็คเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น วิชานี้ก็ยิ่งเข้าใกล้กับความเป็น Applied Linguistics มากขึ้นไปอีก เห็นโปรเจ็คปัง ๆ ของหลาย ๆ กลุ่มในปีนี้แล้วเราแอบรู้สึกอยากกลับไปลงวิชานี้เพื่อทำโปรเจ็คอะไรสักอย่างเลยค่ะ

  1. 和語ー漢語辞典

อันนี้เราสุดแสนเซอร์ไพรส์เลยอะว่ามีคนทำจริง ๆ ด้วย เป็นพี่หนูดีกับพี่การ์ตูนที่เคยไปซิทอินด้วยกันวิชา Grammar System เมื่อปี 4 เทอม 1 เห็นว่าพี่ ๆ เขาสนใจการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนภาษา และสนใจเอกแลงเทคที่เพิ่งเปิดใหม่ เห็นโปรเจคนี้แล้วก็รู้สึกว่าสมกับเป็นพี่ ๆ เขาดีค่ะ

อีกทั้งโปรเจคนี้ก็คงจะเป็นตัวช่วยให้น้อง ๆ ในเอกญี่ปุ่นทั้งในจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในการช่วยพัฒนาภาษาญี่ปุ่นขึ้นไปอีกระดับได้ เช่น การเขียนเรียงความ บางทีพอเรียนเข้าชั้นกลางหรือสูงแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนเรียงความโดยใช้การหลากคำ ตอนปี 2 ที่เราเรียนวิชาการเขียนครั้งแรก กว่าจะได้ 漢語 แต่ละคำก็ต้องพยายามในการหาพอสมควร พอมี source ที่รวบรวมไว้แล้ว รู้สึกว่าชีวิตง่ายขึ้นมากเลยค่ะ

2. JAPISODE : Youtube Channel

อันนี้เป็นอีกโปรเจ็คที่เราสนใจมากค่ะ เห็นเพื่อน ๆ กับน้อง ๆ ที่ทำโปรเจ็คนี้ 苦労 กันมาก ๆ แบบทำกันข้ามวันข้ามคืนแล้วก็นับถือความทุ่มเทและความพยายาม อีกทั้งยังวาดมือทำแอนิเมชั่นเองทั้งหมดไปอีกกกกกกก

พอผลงานออกมาเราบอกเลยค่ะว่าไม่ผิดหวังเลย เนื้อหาสนุกเข้าใจง่าย ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาศาสตร์สังคมไปในตัวด้วย ซึ่งความรู้เหล่านี้ มีประโยชน์กับคนทุ่มกลุ่มที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นเลยค่ะ สำหรับคนที่เรียนแต่ในตำราพื้นฐานอาจจะไม่คุ้นชินกับอะไรแบบนี้ การนำ pop culture เข้ามาเพื่อช่วยนำเสนอทำให้คนเข้าถึงความรู้ได้ง่ายและสนุกขึ้นด้วย

ป.ล. no biased นะคะ เราชอบพี่โค้ดคุร้าบมาก ๆ 55555555

3. ภาษา การแปล และความเป็นเจ้าหงิง

อันนี้อาจจะเรียกโปรเจ็คไม่ได้ เรียกว่านำเสนอ blog ที่เพื่อนทุ่มเทเขียนแล้วกันค่ะ จุ๊บแจงคือเพื่อนร่วมชั้นปีของเรา ซึ่งนางไปเฉิดฉายอยู่ฮันไดมา 1 ปี อัพเวลจนจะถึงร่างสูงสุดแล้วมั้งคะ5555555 นางลงวิชานี้ทั้งที่ไม่ใช่แนว แต่ทำออกมาได้ดีกว่าคนอยากลงอย่างเราอีกอะ

อันนี้แฟนดิสนี่ย์ที่ร้องเพลงเป็นเจ้าหญิงงุ้งงิ้งมาตั้งแต่เด็กจะต้องชอบแน่นอนค่ะ เพราะ blog นี้นำเพลงดิสนี่ย์ทั้งเวอร์ชั่นอังกฤษ ญี่ปุ่น และไทยมาเทียบกันเพื่อสังเกตการแปลในประเด็นต่าง ๆ

โห แค่อธิบายก็ปังแล้วป้ะ

ไม่พอ เหลือบไปดู 参考文献 or รายการอ้างอิงของนาง โอโห research หนักมาก ทั้งวิทยานิพนธ์ภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น เรียกได้ว่าทุ่มเทเขียนทุก entry เพราะฉะนั้น พลาดไม่ได้เลยค่ะสำหรับคนที่สนใจทั้ง ภาษาญี่ปุ่น การแปล เพลงและต่าง ๆ นานา

เนี่ยยยยยย เห็นโปรเจ็คและ blog ของเพื่อน ๆ ปีนี้แล้วเราอยากเอา blog ตัวเองไปซ่อนอ่าาาาา รู้สึกเป็นขยะเปียกเลยอ่าาาาาา อยากย้อนเวลากลับไปลงวิชานี้ใหม่แล้วทำให้ดีกว่านี้เลย

เอาเป็นว่า 3 อันที่เรานำเสนอไปนี้น่าสนใจมาก ๆ อย่าลืมไปดู/อ่าน/ใช้สิ่งที่เรานำเสนอไปนะคะ

実際応用:いい聞き手の繰り返し

              วันจันทร์ที่แล้วนั้นได้เรียนเรื่องการเป็นผู้ฟังที่ดีโดยเรียนจาก task เรื่อง 目に浮かぶ描写 ที่ทำไปก่อนหน้านี้ ตอนนั้นก็คือแอบงงว่าทำไมอ.ถึงต้องให้ถอดเสียงคู่สนทนาด้วย ตอนนี้ถึงบางอ้อแล้ว 55555555 ก็คืออ.จะให้สังเกตพฤติกรรมเวลาที่เราเป็นผู้ฟังเรื่องราวของคนอื่นว่าเรามีการตอบโต้แบบใดบ้าง

              ตอนนั้นคู่สนทนาเราคือพี่โต้ ในเสียงที่อัดมาพี่โต้พูดอยู่ 2 อย่างคือ うん กับ うんうん แล้วก็มีช่วยตอบเวลาเรานึกศัพท์ไม่ออกบ้าง ส่วนเรานั้น…จากที่พี่โต้บันทึกเสียงไว้ สรุปได้ว่า ไม่ได้พูดอะไรเลย! เราก็งงว่า ไม่ตอบไรเลยจริงอ่อ พี่เขาฟังอีกรอบก็บอก ไม่มีจริง ๆ จำได้แค่ว่าตอนนั้นเหมือนเราพยักหน้ารับรู้ตอนเขาเล่า เลยรู้ธรรมชาติตัวเองเลยทันทีว่าเราเกลียดการพูดแทรกคนอื่นเวลาสนทนากันมาก! คือรู้สึกว่ามันค่อนข้างเสียมารยาท ไม่รู้ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น จะว่าเพราะอยู่ในสังคมไทย ๆ ก็ไม่ได้อีกเพราะไม่ได้คิดแบบเราทุกคน

              ซึ่งนี่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการเป็นผู้ฟังที่ดีแบบชาวญี่ปุ่น เพราะการฟังแบบญี่ปุ่นต้องมีการตอบรับคู่สนทนาด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดกับเนเจอร์ของตัวเราทั้งสิ้น แต่เหมือนจะแก้ได้ด้วยการพยายามรับรู้และตอบรับแบบรับรู้ให้ได้ ไม่ใช่ฟังเพลินฟังผ่าน ในห้องเรียนก็คิดแหละ ไว้คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะลองพยายามพูดตอบรับระหว่างสนทนาดูบ้าง

              และโอกาส มาเร็วมาก…

              จนเริ่มสงสัยแล้วว่า ทำไมเนื้อหาวิชานี้กับวิชาอื่นมันทับกันบ่อยจัง แหะ ๆ (แต่ดีตรงมีเรื่องมาให้เขียน blog นี่แหละ) เรื่องก็คือว่า หลังจากวันจันทร์ที่เรียน วันรุ่งขึ้นก็เรียนคาบสนทนาต่อ แล้วก็พบว่า บทเรียนในวันนั้นคือเรื่อง 対話上手 คือไม่ใช่แค่พูดเก่งหรือฟังเก่งนะ ต้อง 対話 เก่ง คือสนทนาตอบโต้เก่งนั่นแหละ

              แต่เราก็แอบสงสัยเล็กน้อยถึงปานกลางว่า 対話 ต่างกับ 会話 ยังไงหว่า ก็เลยลองไปหาใน google ดูแล้วก็พบสิ่งน่าสนใจ เลยแปะไว้ดีกว่า เนื้อความได้ประมาณว่า 会話 เป็นแค่การคุยสนุก ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคู่ในสนทนา ส่วน 対話 เป็นระดับที่คุยกันเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจังแต่อยู่ในอารมณ์ที่อิสระ พยายามเข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่างของอีกฝ่ายหนึ่ง ใช้คำถามเพื่อเอาความรู้จากอีกฝ่ายหนึ่ง ตามรูปด้านล่างนี้

ที่มา:
https://www.ourfutures.net/about/dialogue

              จริงเท็จเพียงใดไม่รู้ แต่กลับมาที่การสนทนาในคาบนี้กันดีกว่า ที่เรียนมาก็คือการจะตอบโต้ได้เก่งนั้น เป็นผู้พูดหรือเล่าเรื่องก็ต้องคอยสังเกตผู้ฟังและไม่ทิ้งผู้ฟังไว้กลางทาง ไม่ให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เอ…พูดอัลไลของแกว้า อะไรประมาณนั้น

              ส่วนฝ่ายที่ฟังเนี่ยก็จะมีหลักการเดียวกับที่เรียนในคาบ App Jp Ling เลยก็คือ ต้องมีการตอบโต้คู่สนทนาให้รู้ว่าเรากำลังฟังอยู่นะ แสดงออกว่าเห็นด้วย แสดงอารมณ์ตกใจ สงสัย กระตุ้นให้คู่สนทนาเล่า ออกความเห็นหรือความรู้สึกต่อเรื่องของผู้พูดหรือไม่ก็เสนอข้อมูลที่เรามีอยู่

              ซึ่งในคาบสนทนา เราเรียนว่าการตอบโต้มี 3 แบบคือ 1.พยักหน้า 2.การใช้あいづち3.ทวนคำพูดอีกฝ่าย (オウム返し)หลักการเดียวกันเป๊ะ ๆ จนหันไปมองน้องอาร์ต (ที่เรียนด้วยกันเนี่ย) ว่ามันคุ้น ๆ เนอะแกร555555

สำนวนนี้ก็มีที่มาจากนกแก้ว (オウム)นี่แหละ เวลาคนพูดอะไรใส่ นกแก้วก็จะทวนคำพูด หลักการเดียวกันกับการสนทนาเลย
ที่มา:
https://www.direct-commu.com/training/a_013.html

              แต่การจะพูด あいづち ระหว่างการสนทนาก็มีเรื่องควรระวังเหมือนกัน คือ ต้องพูดแบบไม่ให้รบกวนการพูดของอีกฝ่าย ไม่ทำให้อีกฝ่ายผิดจังหวะและบอกความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองอย่างง่าย ๆ ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยากมากและขัดกับธรรมชาติของตัวเราเองมาก ๆ พอพยายามจะพูด あいづち ก็ดันคิดเยอะอีกว่า จะไปกวนเขาหรือเปล่า สรุปก็คือมัวแต่คิดถึงหลักการ พูดไม่ออก แง

              แต่สุดท้ายท้ายคาบก็แจคพอตต้องออกไปสนทนากับเพื่อน ความจริงแล้วเป็นผลกรรมที่ไปชี้เพื่อนว่าอยากฟังเพื่อนพูดก่อน เพื่อนเลยชี้กลับนั่นเอง ตอนนั้นก็คือ พยายามมากในการเป็นผู้ฟังที่ดี ทั้งพยักหน้า ทั้ง あいづち ทั้ง オウム返し คือรู้สึกตัวว่าตัวเองเนี่ยพูดเยอะขึ้นและเลิกพยักหน้าอย่างเดียวแล้ว เพียงแต่ว่า คุยเสร็จก็คือ พลังงานหมด เหนื่อยมากเพราะฝืนตัวเอง แต่ฝืนบ่อย ๆ ก็น่าจะติดเป็นนิสัยได้บ้างแหละ

              เพราะฉะนั้น จากนี้จะพยายามเยอะ ๆ ในการเป็นผู้ฟังที่ดีและเป็นผู้ฟังที่ไม่แทรกในจังหวะนรก!

実際応用:i+1

              หลายสัปดาห์ก่อนได้เรียนทฤษฎี i+1 ของ Krashen ผู้คิดทฤษฎี Input Hypothesis ด้วย ทฤษฏี i+1 ที่ว่านี้ คือการให้ input ที่มีระดับสูงกว่าภาษาของผู้เรียน 1 ระดับ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการสอนอะไรที่ยากเกินไป นอกจาก i+1 แล้วปัจจัยที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ก็มีปริมาณของ input ที่ต้องมีจำนวนมากและเป็น comprehensible input (input ที่สามารถเข้าใจได้) ด้วย

              ในฐานะที่เราเป็นผู้เรียน เราชอบเรื่อง i+1 มาก รู้สึกว่า สิ่งที่เราเรียนมามันสามารถต่อยอดขึ้นไปได้เรื่อย ๆ หากช่วงใดที่ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบวัดระดับแล้วต้องเรียนไวยากรณ์หรือรูปประโยคใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลยก็จะรู้สึกว่ายากมาก ๆ แต่ถ้าเคยเรียนสำนวนที่คล้ายกันมาก่อนก็จะเกิดการเชื่อมโยงได้

              แล้วช่วงนี้ เราก็สอนภาษาญี่ปุ่นอยู่ด้วยแหละ ก่อนหน้ามีน้องติดต่อมาอยากให้ช่วยสอนเพื่อสอบ N4 ตอนนั้นเราก็สอนเพราะคิดว่าไม่ได้เกินความสามารถเรามาก แต่ด้วยเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นก็เลยสอนแบบอัด ๆ จนจบเล่มชั้นต้นไป พอน้องผ่าน N4 แล้ว น้องบอกว่าอยากสอบ N3 ต่อ เราก็เลยอะ เดี๋ยวสอนต่อก็ได้ พยายามสรรหาหนังสือมาสอน อันนี้คือแบบ no clue มาก ๆ เพราะตอนเราสอบ N3 เราไม่ได้อ่านหนังสืออะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเลย อ่านสั่ว ๆ บวกกับความรู้ที่มีอยู่เดิม 55555

              เล่มที่เราไปเจอแล้วคิดว่าโอเคที่จะเอามาสอนน้องคือ Level Up ยกระดับการใช้ไวยากรณ์ญี่ปุ่น ชั้นกลาง ของสสท. เล่มนี้เพิ่งออกมาได้ไม่นาน เนื้อหาด้านในเน้นที่การอธิบายหัวข้อไวยากรณ์ในชั้นต้นเพิ่มเติมเสียส่วนมาก แต่ที่ยากก็คือ ศัพท์กับตัวอย่างที่ใช้ในเล่มที่ค่อนข้างยากเลยแหละ

              ตอนสอนน้องด้วยหนังสือเล่มนี้แรก ๆ เราก็เน้นไปที่การอธิบายการใช้กับอ่านตัวอย่างประโยคเสียส่วนใหญ่ แล้วไม่ได้ลด pace การสอนของตัวเองด้วย ยังสอนไวเหมือนตอนสอน N4 แต่ก็เริ่มรู้สึกละว่าน้องเริ่มรู้สึกอิหยังวะกับสิ่งที่เราสอน

แต่พอเรียนเรื่อง i+1 แล้วก็รู้สึกว่า เราควรต่อยอดจากส่วนที่น้องรู้มากกว่า เลยพยายามปรับรูปแบบการสอนของตัวเอง จากที่อธิบายหัวข้อไวยากรณ์ธรรมดา เราก็พยายามเน้นที่ประโยคตัวอย่าง ไม่ใช่แค่การใช้รูปประโยคใหม่ที่เรียน แต่พยายามทวนด้วยว่า ในประโยคนี้มีไวยากรณ์เก่าอะไรที่เคยเรียนไปบ้าง หรือศัพท์ที่เพิ่งเคยเจอใหม่ มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกับศัพท์ตัวไหนที่รู้

              เช่น ในประโยคตัวอย่างของหัวข้อไวยากรณ์เรื่อง から มีประโยคตัวอย่างที่ว่า あさねぼうをしましたから、遅刻してしまいました。ตรงนี้น้องจะได้เรียนศัพท์ใหม่คือคำว่า 遅刻 (สาย) ซึ่งเราก็ทวนให้ศัพท์เก่าที่น้องรู้คือคำว่า 遅い กับ遅れる ไปด้วย แล้วก็จะทวนด้วยว่า สำนวน てしまう ใช้ในความหมายหรือกรณีไหนบ้าง

              พอทำแบบนี้มา 3-4 ครั้ง เรารู้สึกว่าน้องที่เรียนด้วยจับสิ่งที่เราสอนได้มากขึ้น ตัวไวยากรณ์เก่า ๆ ก็นึกได้เร็วมากขึ้นและตอนเรียนน้องหาวน้อยลง5555555 หลังจากนี้ก็จะพยายามค่อย ๆ ต่อยอดจากสิ่งที่น้องรู้แล้วสอนต่อไป

            i+1 จงเจริญ

実際応用:内省することが何より

              การนำไปประยุกต์ที่ว่านี้ ไม่ใช่การนำการแนะนำตัวที่เรียนไปประยุกต์ตรง ๆ แต่เป็นการพยายามทบทวนข้อผิดพลาดของตัวเองซึ่งได้ทำไปในคาบเรียนสัปดาห์แรกนั่นเอง หลังจากทำก็รู้ถึงความสำคัญของการทบทวนกับการเรียนภาษาและการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

              เหมือนชีวิตปี 3 กลับไปเหมือนตอนที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นใหม่ คือแนะนำตัวถี่เหลือเกิน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ ตอนที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นใหม่ ๆ น่ะ อันนั้นมัน 入門・初級 แต่ที่เรียนอยู่ตอนนี้เนี่ย 上級を目指しながらの勉強 คือเรียนแบบโปร ที่เรียนอยู่ตรงนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อการสื่อสารแล้ว จุดประสงค์นี่มุ่งเพื่อการพูดให้เป็นธรรมชาติแบบชาวญี่ปุ่น ซึ่งยากมากกกกก เพราะไม่ได้เรียนตั้งแต่เด็ก ภาษาแม่ไม่ได้เอื้อต่อการเรียนภาษาญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย (อาจจะมีส่วนที่เอื้อกันในตรงที่เราไม่รู้ก็ได้ จุดนี้ 対照言語学 ศาสตร์แห่งการศึกษาภาษาแม่เทียบกับภาษาญี่ปุ่นเพื่อการเรียนภาษาญี่ปุ่น มันต้องมาแล้วล่ะ)  และสภาพแวดล้อมที่นอกห้องเรียนที่เอื้อในการเรียนภาษาญี่ปุ่นน้อยมาก

              ในคาบสนทนาภาษาญี่ปุ่นในวันอังคารที่ผ่านมา (22 มกราคม) เรียนเรื่องการใช้ フィラー (ฟิลเลอร์: คำที่พูดเพื่อไม่ให้เกิดความเงียบระหว่างบทสนทนา แสดงให้คู่สนทนาเห็นว่า กำลังนึกหรือคิดอยู่ เป็นต้น ตัวอย่างคำเช่น あのう、その、まあ、なんか) สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนสิ่งนี้ก็คือ…

         แนะนำตัวโดยไม่ใช้ フィラー!!

              อาจารย์คนโดให้เงื่อนไขว่าจงแนะนำตัวกับเพื่อนโดยพยายามไม่ให้ใช้คำฟิลเลอร์เลย หากเผลอพูดจะต้องหยุดและเปลี่ยนผลัดการสนทนาทันที ปรากฎว่า…พูดได้สามคำต้องเปลี่ยนผลัด ไม่รู้เรื่องสักทีเพราะเผลอพูดฟีลเลอร์ตลอดเลย มันห้ามไม่ได้ เพราะพอนึกคำพูดไม่ออกปุ๊ป ปากนี่เผลอพูดฟิลเลอร์ก่อนเลย เพราะคิดว่าถ้าปล่อยให้บทสนทนาเงียบไปเลยน่าจะแย่กว่าการพูดอะไรออกมาสักอย่าง แม้จะไม่มีสาระอะไรก็ตาม (แล้วก็พบทีหลังว่า ฟิลเลอร์ก็มีสาระนะ มันสื่อความหมายนะ!)

              อาจารย์ให้อัดเสียงบทสนทนาไว้ แล้วมาฟังทีหลังพร้อมทั้งนับว่าตัวเองพูดคำฟิลเลอร์ไปเยอะขนาดไหน

              มาฟังอีกรอบแล้วก็อืม…ช่างน่าเกลียดอะไรขนาดนี้ ตอนพูดไม่เท่าไหร่ ตอนกลับมาฟังนี่สิ ทำให้รู้ว่าตัวเองติดพูดฟิลเลอร์เยอะมาก ตอนที่แนะนำตัวในคาบ App Jp Ling เมื่อสัปดาห์แรกนั่นพูดไม่เยอะเท่าไหร่เพราะพูดแค่สั้น ๆ แต่พอเป็นบสนทนายาว ๆ แล้วปรากฎว่าพูดเยอะมาก โดยเฉพาะคำว่า まあ บทสนทนา 3 นาที…

              พูดคำว่า まあ ไป 8 ครั้งถ้วน! ยังไม่รวมฟิลเลอร์อื่นอีก

              หลังจากที่ทดลองการแนะนำตัวโดยไม่ใช้ฟิลเลอร์ผ่านไป อาจารย์คนโดก็อธิบายว่า ไอจะไม่พูดฟิลเลอร์เลยก็คงไม่ได้หรอก แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่พอดีและใช้อย่างเหมาะสมต่างหาก เช่น ถ้าพูดว่า あのう แสดงว่ากำลังคิดอะไรอยู่สักอย่างนึง และ!!

              มีเราและเพื่อนจำนวนไม่น้อยที่ติดใช้คำว่า で เป็นฟิลเลอร์ อาจารย์บอกให้ระวังมาก ๆ เพราะอันนี้มันหมายถึง それで ซึ่งเป็นคำเชื่อม ถ้าใส่เข้ามาสุ่มสี่สุ่มห้า อาจจะทำให้คู่สนทนาคงเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งที่เราพูดมากกว่าเดิม

              อาจารย์คนโดก็ให้ลองพูดอีกรอบ คราวนี้มีเรื่องมาให้เลือก 3-4 เรื่อง (ความทรงจำเลือนลาง จำได้แต่เฉพาะที่ตัวเองพูดไปเนี่ย) ซึ่งมีเรื่องเป้าหมายของปีนี้อยู่ ก็เลยเลือกยกหัวข้อนี้ขึ้นมาใช้ในบทสนทนา เป้าหมายปีนี้ก็คืออยากได้ทุนมง (แม้จะช่างห่างไกล ฮือออ) ก็คุยไปแล้วก็อัดเสียงเอาไว้ฟังที่หลังด้วย แต่คราวนี้อาจารย์สั่งให้ถอดเทปทั้งบทสนทนา ไม่ได้ให้จับแค่ฟิลเลอร์แล้ว หลังจากฟังแล้วก็ อืม…หายนะ

พอระวังไม่ให้ตัวเองพูดคำว่า まあ ก็ดันเผลอพูดคำอื่นแทนซะงั้น あのう、そうですね、その มาเต็ม

มันจะเผลอพูดอะไรนักหนา อยากตายไปเสียให้พ้น ๆ แง

              เศร้าอีกแล้ว

              แต่ไม่เป็นไร ได้วิธีเรียนแบบนี้มา ก็แค่พูดแล้วมาฟังทบทวน พยายามย้อนมาฟังสิ่งที่พูด เวลาพูดก็มีสติขึ้นหน่อย แม้จะพูดง่ายทำยากก็เถอะ แหะ ๆ